ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บบล็อกของนางสาว อมรรัตน์ วงษ์แก้ว หน่วยที่ 9 จิตวิทยาการเรียนรู้

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

การถ่ายโยงการเรียนรู้

            การถ่ายโยงการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ ๒ ลักษณะ คือ การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก (Positive Transfer) และการถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ (Negative Transfer)
            การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก (Positive Transfer) คือ การถ่ายโยงการเรียนรู้ชนิดที่ผลของการเรียนรู้งานหนึ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อีกงานหนึ่งได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น หรือดีขึ้น   การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก มักเกิดจาก
            ๑.  เมื่องานหนึ่ง มีความคล้ายคลึงกับอีกงานหนึ่ง  และผู้เรียนเกิดการเรียนรู้งานแรกอย่างแจ่มแจ้งแล้ว
            ๒.  เมื่อผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างงานหนึ่งกับอีกงานหนึ่ง
            ๓.  เมื่อผู้เรียนมีความตั้งใจที่จะนำผลการเรียนรู้จากงานหนึ่งไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับการเรียนรู้อีกงานหนึ่ง  และสามารถจำวิธีเรียนหรือผลของการเรียนรู้งานแรกได้อย่างแม่นยำ
            ๔.  เมื่อผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  โดยชอบที่จะนำความรู้ต่างๆ ที่เคยเรียนรู้มาก่อนมาลองคิดทดลองจนเกิดความรู้ใหม่ๆ
            การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ (Negative Transfer)  คือการถ่ายโยงการเรียนรู้ชนิดที่ผลการเรียนรู้งานหนึ่งไปขัดขวางทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อีกงานหนึ่งได้ช้าลง  หรือยากขึ้นและไม่ได้ดีเท่าที่ควร  การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ อาจเกิดขึ้นได้ ๒ แบบ คือ
            ๑.  แบบตามรบกวน (Proactive Inhibition)  ผลของการเรียนรู้งานแรกไปขัดขวางการเรียนรู้งานที่ ๒
            ๒.  แบบย้อนรบกวน (Retroactive Inhibition)  ผลการเรียนรู้งานที่ ๒ ทำให้การเรียนรู้งานแรกน้อยลง

การเกิดการเรียนรู้ทางลบมักเกิดจาก
-  เมื่องาน ๒ อย่างคล้ายกันมาก แต่ผู้เรียนยังไม่เกิดการเรียนรู้งานใดงานหนึ่งอย่างแท้จริงก่อนที่จะเรียนอีกงานหนึ่ง  ทำให้การเรียนงาน ๒ อย่างในเวลาใกล้เคียงกันเกิดความสับสน
-  เมื่อผู้เรียนต้องเรียนรู้งานหลายๆ อย่างในเวลาติดต่อกัน  ผลของการเรียนรู้งานหนึ่งอาจไปทำให้ผู้เรียนเกิดความสับสนในการเรียนรู้อีกงานหนึ่งไป

การนำความรู้ไปใช้

            ๑.  ก่อนที่จะให้ผู้เรียนเกิดความรู้ใหม่  ต้องแน่ใจว่า ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความรู้ใหม่มาแล้ว
            ๒.  พยายามสอนหรือบอกให้ผู้เรียนเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการเรียนที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง
            ๓.  ไม่ลงโทษผู้ที่เรียนเร็วหรือช้ากว่าคนอื่นๆ และไม่มุ่งหวังว่าผู้เรียนทุกคนจะต้องเกิดการเรียนรู้ที่เท่ากันในเวลาเท่ากัน
            ๔.  ถ้าสอนบทเรียนที่คล้ายกัน ต้องแน่ใจว่าผู้เรียนเข้าใจบทเรียนแรกได้ดีแล้วจึงจะสอนบทเรียนต่อไป
            ๕.  พยายามชี้แนะให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของบทเรียนที่มีความสัมพันธ์กัน
ลักษณะสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่ามีการเรียนรู้เกิดขึ้น จะต้องประกอบด้วยปัจจัย  ๓  ประการ  คือ
                                      ๑.   มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างคงทน   ถาวร
                                      ๒.  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นจะต้องเป็นผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึก การปฏิบัติซ้ำๆ  เท่านั้น
                                      ๓.  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวจะมีการเพิ่มพูนในด้านความรู้  ความเข้าใจ  ความรู้สึกและความสามารถทางทักษะทั้งปริมาณและคุณภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น