ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บบล็อกของนางสาว อมรรัตน์ วงษ์แก้ว หน่วยที่ 9 จิตวิทยาการเรียนรู้

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

จิตวิทยาการเรียนรู้

การเรียนรู้  เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญและจำเป็นในการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนตาย  สำหรับมนุษย์การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่น ๆ    ดังพระราชนิพนธ์บทความของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ  ที่ว่า  "สิ่งที่ทำให้คนเราแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ ก็เพราะว่า คนย่อมมีปัญญา  ที่จะนึกคิดและปฏิบัติสิ่งดีมีประโยชน์และถูกต้องได้  "  การเรียนรู้ช่วยให้มนุษย์รู้จักวิธีดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข  ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพการต่างๆ  ได้   ความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์จะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จและความพึงพอใจในชีวิตของมนุษย์ด้วย

ความหมายของการเรียนรู้

นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ เช่น
                คิมเบิล  (   Kimble ,  1964   )  "การเรียนรู้   เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง"
                ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์  (Hilgard & Bower, 1981)  "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก   ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ  ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์  "
                คอนบาค  (  Cronbach  )  "การเรียนรู้  เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา "
                พจนานุกรมของเวบสเตอร์  (Webster 's  Third  New International Dictionary) "การเรียนรู้ คือ  กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้  ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน"
                ประดินันท์  อุปรมัย (๒๕๔๐ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา(มนุษย์กับการเรียนรู้) : นนทบุรีพิมพ์ครั้งที่ ๑๕,     หน้า ๑๒๑) การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์  โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม “  ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
                ประสบการณ์ทางตรง คือ ประสบการณ์ที่บุคคลได้พบหรือสัมผัสด้วยตนเอง  เช่น เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่เคยรู้จักหรือเรียนรู้คำว่า ร้อน” เวลาที่คลานเข้าไปใกล้กาน้ำร้อน แล้วผู้ใหญ่บอกว่าร้อน และห้ามคลานเข้าไปหา  เด็กย่อมไม่เข้าใจและคงคลานเข้าไปหาอยู่อีก จนกว่าจะได้ใช้มือหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปสัมผัสกาน้ำร้อน จึงจะรู้ว่ากาน้ำที่ว่าร้อนนั้นเป็นอย่างไร  ต่อไป เมื่อเขาเห็นกาน้ำอีกแล้วผู้ใหญ่บอกว่ากาน้ำนั้นร้อนเขาจะไม่คลานเข้าไปจับกาน้ำนั้น  เพราะเกิดการเรียนรู้คำว่าร้อนที่ผู้ใหญ่บอกแล้ว  เช่นนี้กล่าวได้ว่า ประสบการณ์ตรงมีผลทำให้เกิดการเรียนรู้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เผชิญกับสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม  ในการมีประสบการณ์ตรงบางอย่างอาจทำให้บุคคลมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ไม่ถือว่าเป็นการเรียนรู้ ได้แก่
                ๑.  พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากฤทธิ์ยา หรือสิ่งเสพติดบางอย่าง
                ๒.  พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากความเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจ
                ๓.  พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากความเหนื่อยล้าของร่างกาย
                ๔.  พฤติกรรมที่เกิดจากปฏิกิริยาสะท้อนต่างๆ
                ประสบการณ์ทางอ้อม คือ ประสบการณ์ที่ผู้เรียนมิได้พบหรือสัมผัสด้วยตนเองโดยตรง  แต่อาจได้รับประสบการณ์ทางอ้อมจาก  การอบรมสั่งสอนหรือการบอกเล่า การอ่านหนังสือต่างๆ และการรับรู้จากสื่อมวลชนต่างๆ

จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
                พฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาซึ่งกำหนดโดย บลูม และคณะ  (Bloom and Others ) มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน  ๓  ด้าน    ดังนี้
                ๑.  ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ  การนำไปใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์และประเมินผล
                ๒.  ด้านเจตพิสัย (Affective Domain )  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก  ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ  ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
                ๓.  ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว  การกระทำ  การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ

องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้

                ดอลลาร์ด และมิลเลอร์  (Dallard and Miller) เสนอว่าการเรียนรู้ มีองค์ประกอบสำคัญ ๔  ประการ คือ
                ๑.  แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล    เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ  แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป
                ๒.  สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ   ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา  หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู  กิจกรรมการสอน  และอุปกรณ์การสอนต่างๆ   ที่ครูนำมาใช้
                ๓.  การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้    เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง  คำพูด การคิด  การรับรู้  ความสนใจ และความรู้สึก  เป็นต้น
                ๔.  การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอันมาก

ธรรมชาติของการเรียนรู้

                การเรียนรู้มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
                ๑.  การเรียนรู้เป็นกระบวนการ  การเกิดการเรียนรู้ของบุคคลจะมีกระบวนการของการเรียนรู้จากการไม่รู้ไปสู่การเรียนรู้ ๕ ขั้นตอน คือ
                     ๑.๑  มีสิ่งเร้ามากระตุ้นบุคคล
                     ๑.๒  บุคคลสัมผัสสิ่งเร้าด้วยประสาททั้ง ๕
                     ๑.๓  บุคคลแปลความหมายหรือรับรู้สิ่งเร้า
                     ๑.๔  บุคคลมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งเร้าตามที่รับรู้
                     ๑.๕  บุคคลประเมินผลที่เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
การเรียนรู้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้า (Stimulus) มากระตุ้นบุคคล  ระบบประสาทจะตื่นตัวเกิดการรับสัมผัส (Sensation) ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕  แล้วส่งกระแสประสาทไปยังสมองเพื่อแปลความหมายโดยอาศัยประสบการณ์เดิมเป็นการรับรู้ (Perception)ใหม่  อาจสอดคล้องหรือแตกต่างไปจากประสบการณ์เดิม แล้วสรุปผลของการรับรู้นั้น  เป็นความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด (Concept) และมีปฏิกิริยาตอบสนอง (Response) อย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งเร้า  ตามที่รับรู้ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแสดงว่า  เกิดการเรียนรู้แล้ว
๒.  การเรียนรู้ไม่ใช่วุฒิภาวะแต่การเรียนรู้อาศัยวุฒิภาวะ
          วุฒิภาวะ คือ ระดับความเจริญเติบโตสูงสุดของพัฒนาการด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคม  และสติปัญญาของบุคคลแต่ละวัยที่เป็นไปตามธรรมชาติ  แม้ว่าการเรียนรู้จะไม่ใช่วุฒิภาวะแต่การเรียนรู้ต้องอาศัยวุฒิภาวะด้วย  เพราะการที่บุคคลจะมีความสามารถในการรับรู้หรือตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีวุฒิภาวะเพียงพอหรือไม่
            ๓.  การเรียนรู้เกิดได้ง่าย ถ้าสิ่งที่เรียนเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน
            การเรียนสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน คือ การเรียนในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการจะเรียนหรือสนใจจะเรียน เหมาะกับวัยและวุฒิภาวะของผู้เรียนและเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน  การเรียนในสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียนย่อมทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนในสิ่งที่ผู้เรียนไม่ต้องการหรือไม่สนใจ
            ๔.  การเรียนรู้แตกต่างกันตามตัวบุคคลและวิธีการในการเรียน
            ในการเรียนรู้สิ่งเดียวกัน บุคคลต่างกันอาจเรียนรู้ได้ไม่เท่ากันเพราะบุคคลอาจมีความพร้อมต่างกัน  มีความสามารถในการเรียนต่างกัน  มีอารมณ์และความสนใจที่จะเรียนต่างกันและมีความรู้เดิมหรือประสบการณ์เดิมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเรียนต่างกันในการเรียนรู้สิ่งเดียวกัน  ถ้าใช้วิธีเรียนต่างกัน ผลของการเรียนรู้อาจมากน้อยต่างกันได้  และวิธีที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากสำหรับบุคคลหนึ่งอาจไม่ใช่วิธีเรียนที่ทำให้อีกบุคคลหนึ่งเกิดการเรียนรู้ได้มากเท่ากับบุคคลนั้นก็ได้

การถ่ายโยงการเรียนรู้

            การถ่ายโยงการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ ๒ ลักษณะ คือ การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก (Positive Transfer) และการถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ (Negative Transfer)
            การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก (Positive Transfer) คือ การถ่ายโยงการเรียนรู้ชนิดที่ผลของการเรียนรู้งานหนึ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อีกงานหนึ่งได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น หรือดีขึ้น   การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก มักเกิดจาก
            ๑.  เมื่องานหนึ่ง มีความคล้ายคลึงกับอีกงานหนึ่ง  และผู้เรียนเกิดการเรียนรู้งานแรกอย่างแจ่มแจ้งแล้ว
            ๒.  เมื่อผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างงานหนึ่งกับอีกงานหนึ่ง
            ๓.  เมื่อผู้เรียนมีความตั้งใจที่จะนำผลการเรียนรู้จากงานหนึ่งไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับการเรียนรู้อีกงานหนึ่ง  และสามารถจำวิธีเรียนหรือผลของการเรียนรู้งานแรกได้อย่างแม่นยำ
            ๔.  เมื่อผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  โดยชอบที่จะนำความรู้ต่างๆ ที่เคยเรียนรู้มาก่อนมาลองคิดทดลองจนเกิดความรู้ใหม่ๆ
            การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ (Negative Transfer)  คือการถ่ายโยงการเรียนรู้ชนิดที่ผลการเรียนรู้งานหนึ่งไปขัดขวางทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อีกงานหนึ่งได้ช้าลง  หรือยากขึ้นและไม่ได้ดีเท่าที่ควร  การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ อาจเกิดขึ้นได้ ๒ แบบ คือ
            ๑.  แบบตามรบกวน (Proactive Inhibition)  ผลของการเรียนรู้งานแรกไปขัดขวางการเรียนรู้งานที่ ๒
            ๒.  แบบย้อนรบกวน (Retroactive Inhibition)  ผลการเรียนรู้งานที่ ๒ ทำให้การเรียนรู้งานแรกน้อยลง

การเกิดการเรียนรู้ทางลบมักเกิดจาก
-  เมื่องาน ๒ อย่างคล้ายกันมาก แต่ผู้เรียนยังไม่เกิดการเรียนรู้งานใดงานหนึ่งอย่างแท้จริงก่อนที่จะเรียนอีกงานหนึ่ง  ทำให้การเรียนงาน ๒ อย่างในเวลาใกล้เคียงกันเกิดความสับสน
-  เมื่อผู้เรียนต้องเรียนรู้งานหลายๆ อย่างในเวลาติดต่อกัน  ผลของการเรียนรู้งานหนึ่งอาจไปทำให้ผู้เรียนเกิดความสับสนในการเรียนรู้อีกงานหนึ่งไป

การนำความรู้ไปใช้

            ๑.  ก่อนที่จะให้ผู้เรียนเกิดความรู้ใหม่  ต้องแน่ใจว่า ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความรู้ใหม่มาแล้ว
            ๒.  พยายามสอนหรือบอกให้ผู้เรียนเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการเรียนที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง
            ๓.  ไม่ลงโทษผู้ที่เรียนเร็วหรือช้ากว่าคนอื่นๆ และไม่มุ่งหวังว่าผู้เรียนทุกคนจะต้องเกิดการเรียนรู้ที่เท่ากันในเวลาเท่ากัน
            ๔.  ถ้าสอนบทเรียนที่คล้ายกัน ต้องแน่ใจว่าผู้เรียนเข้าใจบทเรียนแรกได้ดีแล้วจึงจะสอนบทเรียนต่อไป
            ๕.  พยายามชี้แนะให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของบทเรียนที่มีความสัมพันธ์กัน
ลักษณะสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่ามีการเรียนรู้เกิดขึ้น จะต้องประกอบด้วยปัจจัย  ๓  ประการ  คือ
                                      ๑.   มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างคงทน   ถาวร
                                      ๒.  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นจะต้องเป็นผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึก การปฏิบัติซ้ำๆ  เท่านั้น
                                      ๓.  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวจะมีการเพิ่มพูนในด้านความรู้  ความเข้าใจ  ความรู้สึกและความสามารถทางทักษะทั้งปริมาณและคุณภาพ